COLUMNIST

พลังงานทดแทนไทย อาเซียน และโลก ในอนาคตจะเป็นอย่างไร?
POSTED ON -


 

เรื่องของโลกในอนาคตเป็นคำถามที่พบบ่อยที่สุด ไม่ใช่เฉพาะในวงการหมอดูเลื่องชื่อ แม้แต่ผู้เขียนที่มีความรู้จำกัดอยู่แค่หางอึ่ง ก็ยังถูกถามเกี่ยวกับพลังงานทดแทนในอนาคตเสมอๆ จึงขอนำความรู้ที่ทั้งค้นทั้งคว้ามาเสนอ เริ่มจากโลกของเราก่อนดีไหม มีการพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าถึงปี ค.ศ.2060 ถ้าผิดพลาดบ้างก็คงไม่มีใคร มาทวงถาม

 

สรุปว่าพลังงานโดยรวมของโลกในปัจจุบันมีการใช้ "น้ำมัน" สูงสุด รองลงมาเป็น "ถ่านหิน" และ "ก๊าซธรรมชาติ" ตามลำดับ ส่วนในอนาคตอีกหลายสิบปี การใช้น้ำมันจะค่อยๆ ลดลง น้ำมันก็คงใกล้หมดเต็มทีเหมือนกัน ส่วนการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่แน่ใจว่าก๊าซธรรมชาติของไทยจะอยู่กับลูกหลานเราได้อีกกี่ปี ถ้ายังขาย LPG ถูกๆ เช่นนี้

 

ส่วนพลังงานทดแทน จะเห็นว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้พลังงานโดยรวม มีข้อสังเกตว่าพลังงานทดแทนที่ใช้ Gasified อาจต้องรออีกหลายปีต่อจากนี้ จึงจะได้รับความนิยมและยอมรับ

 

ส่วนพลังงานนิวเคลียร์ก็มีการเติบโตเป็นปกติ การคาดการณ์ครั้งนี้จะคลาดเคลื่อนมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ตัวแปร เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนไป หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เทคโนโลยีใหม่ที่ปลอดภัยและไม่ใช้ยูเรเนียม ได้มีการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ การคาดการณ์ก็คงต้องปรับเปลี่ยนกันยกใหญ่ หรือพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ถูกลงกว่านี้ มีประสิทธิภาพสูงกว่านี้ ใช้พื้นที่น้อยกว่านี้ และอาศัยเพียงแสงสว่าง แผงโซลาร์เซลล์ก็สามารถทำงานและผลิตไฟฟ้าได้ เมื่อถึงเวลานั้น แน่นอนที่สุดความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่ๆ

 

ส่วนในอาเซียนซึ่งมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อพลังงานชีวภาพทั้งหลาย คงต้องคำนึงว่าในอนาคตไม่ว่าเทคโนโลยีจะมีการพัฒนาสักเท่าใดก็ตาม พื้นที่เพาะปลูกจะเป็นตัวจำกัดปริมาณพลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวภาพ ดังนั้น ในอนาคตอาเซียนอาจต้องซื้อเทคโนโลยีพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานไฮโดรเจน และพลังงานใหม่ๆ จากประเทศที่พัฒนาแล้ว หากวันนี้ไม่เตรียมพร้อมและยังพึงพอใจกับการนำเข้าทั้งเทคโนโลยีและเครื่องจักรอุปกรณ์

 

สำหรับประเทศไทย แผน AEDP ปี 2556 กำหนดให้ผลิตพลังงานทดแทน 25% ของพลังงานขั้นสุดท้าย โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ (1) เชื้อเพลิงชีวภาพ (2) พลังงานความร้อน และ (3) ไฟฟ้า จะเห็นได้ว่าเชื้อเพลิง ชีวภาพมีสัดส่วนเกือบ 50% ของพลังงานทดแทนทั้งหมด

 

ดูแล้วไม่ขี้เหร่ น่าชื่นชมคนทำแผน ปัญหาอยู่ที่จะไปให้ถึงแผนได้อย่างไร ถ้าการเมืองยังแกว่งเหมือนไกวเปล การขออนุญาตแต่ละโครงการต้องใช้เวลานานนับปี ซึ่งอาจได้รับคำตอบว่าไม่มีสายส่งต้องรอไปอีก 5 ปี เป็นต้น ผู้เกี่ยวข้องกับการให้ใบอนุญาตทั้งหลาย ตั้งแต่กรมโรงงาน กกพ. พพ. การไฟฟ้าฯ ท้องถิ่น ผังเมือง พ.ร.บ.ร่วมทุน เอ็นจีโอ... ลองตกลงกันให้ดีใช้วิธี “One Stop Service” ได้ไหม? จะได้มีผู้รับผิดและรับชอบตัวจริงสักที